หน้าเว็บ

ตำนานแห่งเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องแรกของโลก


ถ่ายเอกสารอยู่ทุกวัน ทั้งวันทั้งคืน บ้างก็นั่งเช็ดนั่งถู ลูบคลำปัดฝุ่น บ้างก็ถึงขั้นนอนเฝ้าเครื่องฯ วิ่งทั้งคืนยันเช้า บ้างก็คลุกคลีตีโมง แกะนั่นถอดนี่ จนแทบจะเรียกได้ว่าถ้าเป็นคนก็คงจะได้เสียกันไปเป็นที่เรียบร้อย แต่เคยมีใครสงสัยหรืออยากรู้บ้างหรือไม่ว่า ไอ้กระดาษแผ่นบางๆ ที่วางอยู่บนกระจก เพียงหลอดสแกนวิ่งผ่าน แล้วกระดาษอีกหลายพันหลายหมื่นแผ่น มันวิ่งออกมามีภาพเหมือนกับต้นฉบับ แถมสั่งได้ดั้งใจในทุกรูปแบบ ย่อ-ขยาย จัดชุด กลับหน้า-หลัง ฯลฯ อย่างที่นำมาใช้ทำมาหากินกันดังเช่นทุกวันนี้ มันมีที่มาอย่างไร

แรกเริ่มเดิมที ตั้งแต่มีมนุษย์อุบัติขึ้นมาบนโลก เครื่องมือที่ใช้ทำสำเนารูปภาพ เริ่มมาจากหลักการของกล้องถ่ายภาพ ซึ่งในที่นี้คงไม่กล่าวถึง เพราะกล้องถ่ายรูปก็มีรูปแบบวิวัฒนาการแตกต่างกันไป (ว่างๆ จะไปรื้อตำราเก่าสมัยเรียนมา คืนอาจารย์ไปหมดแล้ว) เพียงแต่ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากที่มีกล้องถ่ายรูป ได้มีผู้คิดค้นวิธีการทำสำเนาภาพขึ้น ดังนั้น เครื่องถ่ายเอกสารในยุคแรกจึงไม่ใช่เครื่องถ่ายเอกสาร แต่เป็นลักษณะคล้ายเครื่องอัดรูป หรือเครื่องทำสำเนาขนาดเล็ก ถ่ายสำเนาได้ครั้งละแผ่นเดียวเท่านั้น ซึ่งตรงนี้เองเป็นที่มาของรากศัพท์ คำว่า Photocopy หรือ สำเนาภาพ ที่เราแปลเป็นภาษาไทย มาจนถึงทุกวันนี้คือคำว่า “ถ่ายเอกสาร”


เครื่องทำสำเนาภาพในยุคแรก ใช้หลักการเดียวกับการล้างอัดรูปภาพในสมัยก่อน คือใช้วิธีเติมน้ำยา วิธีการใช้งานค่อนข้างยุ่งยาก เรียกง่ายๆ ว่าถ่ายรูปแล้วนำไปล้างอัด โดยใช้หลักการเครื่องผ่านแสงไฟเพื่อให้ได้ฟิล์ม Negative ออกมา นำไปแช่น้ำยา (น่าจะเป็น Developing พวก เมตอล ซัลไฟต์ คาร์บอร์เนตฯลฯ Fixing ก็คงเป็นไฮโปคลอไรด์ เดาเอานะ สมัยนั้นคงไม่มี Kodak D-76) แล้วจึงลอกแผ่น Negative ออก ก็จะได้เอกสารที่ถ่ายสำเนาออกมา เรียกระบบนี้ว่า Dual Spectrum แต่แน่นอนว่าคงไม่คมชัดนัก ถ่ายสำเนาได้ครั้งละ 1 แผ่นเท่านั้น จึงถือว่ายังไม่ใช่เครื่องถ่ายเอกสาร ที่ทำสำเนาได้จำนวนมาก

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษจนได้ ในปี ค.ศ. 1936 นายเชสเตอร์ คาร์ลสัน ชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งประกอบอาชีพนักกฎหมายหรือจะเรียกทนายความก็ได้  ได้รับภารกิจ ในการตรวจเอกสารในบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่ง และเริ่มมีความรู้สึกว่าสำเนาเอกสารมีไม่พอใช้งาน จะให้ไปพิมพ์ใหม่ก็เสียเวลา เพราะไหนจะต้องพิมพ์ออกมา กรอกเอกสารและตรวจทานกันใหม่ จะใช้วิธีถ่ายภาพจากเครื่องรุ่นที่ต้องเติมน้ำยาอัดรูป สนนราคาและคุณภาพก็อย่างรู้ๆ กันว่าแพง แถมไม่คมชัด ด้วยความชื่นชอบในการเป็นนักประดิษฐ์ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นายคาร์ลสัน จึงเริ่มคิดต้นหาทาง ประดิษฐ์เครื่องถ่ายสำเนาเอกสารออกมาใช้ให้จงได้

เชสเตอร์ คาร์ลสัน ได้ใช้เวลาว่างจากงานทนาย ไปนั่งค้นคว้าหาข้อมูลที่ห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กทุกวัน วันๆ ก็นั่งเสาะหาผลงานจากนักวิทยาศาสตร์ ในที่สุด พระเจ้าก็เข้าข้าง คาร์ลสัน ได้ไปพบผลงานการค้นคว้าของนายพอล เซเลนยี นักฟิลิกส์ ชาวฮังกาเรียน เจ้าของทฤษฎีที่ว่า “แสงจะเพิ่มสภาพการนำกระแสไฟฟ้าสถิตของวัตถุนั้นได้” คาร์ลสัน จึงเริ่มเดินหน้าค้นคว้าต่อยอดองค์ความรู้ดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายแรกคือการสร้างภาพให้ออกมาให้ได้ โดยใช้หลักการของไฟฟ้าสถิต เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอย คาร์ลสันได้เช่าห้องทดลองในย่านแอสโตเรีย มหานครนิวยอร์ก โดยมีผู้ช่วยนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ชื่อ ออตโต คอร์นี มาช่วยกันค้นคว้าทดลองตามเป้าหมายที่วางไว้

และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง 22 ตุลาคม ค.ศ. 1938 คอร์นี นักฟิสิกส์ผู้ช่วยของ คาร์ลสัน ได้ทดลองเขียนคำว่า "10-22-38 แอสโตเรีย" ลงบนแผ่นกระจกสำหรับกล้องจุลทรรศน์ จากนั้นก็เคลือบแผ่นสังกะสีด้วยผงกำมะถัน แล้วก็ออกแรงถูๆ จนแน่ใจว่ากระแสไฟฟ้าสถิตเกิดขึ้น แล้วเอาแผ่นกระจกกับแผ่นสังกะสีเคลือบกำมะถันที่ถูแล้ว มาประกบกัน นำทั้งสองแผ่นไปวางใต้หลอดไฟฟ้าขดลวดที่สว่างจ้า ต่อจากนั้นจัดการเผาผงที่เคลือบไว้ให้หลุดออก ซึ่งบางส่วนก็หลุดออกไป เหลือไว้เพียงแต่คำว่า "10-22-38 แอสโตเรีย" ดังที่เขียนไว้เป็นต้นฉบับแทบจะไม่ผิดเพี้ยน เป็นอันว่าเครื่องถ่ายเอกสารที่นายคาร์ลสัน หมายมั่นไว้ ใกล้ความจริงเข้ามาทุกทีแล้ว

ปีต่อมา ค.ศ.1939 คาร์ลสันพยายามนำเสนอสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นได้ให้กับบริษัทกว่า 20 แห่ง แต่ไม่มีใครยอมซื้อ แม้ว่าต่อมาจะมีหลายที่หลายแห่ง ช่วยเหลือคาร์ลสัน ให้พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ของเขาให้พัฒนาเพิ่มเติม แต่ก็กินเวลาอีกหลายสิบปีกว่าเครื่องถ่ายเอกสารเครื่องแรกจะปรากฏโฉม ตราบจนปี ค.ศ. 1959 เครื่องถ่ายเอกสารเครื่องแรกก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เปิดตัวในชื่อรุ่น 914 ใช้ระบบ xerography รากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่า "แห้ง" และ "เขียน" ภาษาอังกฤษเรียก "dry writing"

เพียงแค่กดปุ่ม ก็ถ่ายสำเนาลงบนกระดาษได้อย่างง่ายดาย นวัตกรรมใหม่นี้ส่งเสียงสะท้านโลก และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น โดยมี Xerox Corporation ร่วมจับมือกับเชสเตอร์ คาร์ลสัน คิดค้นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์อันยิ่งใหญ่นี้  โดยใช้ระบบ Copyflo ซึ่งสามารถทำสำเนาได้ครั้งละมากๆ ต้นทุนการผลิตค่อนข้างต่ำแต่ประสิทธิภาพในการใช้งานสูง ต่อจากนั้นก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเครื่องถ่ายเอกสารดังที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่มีคนเรียกเครื่องถ่ายเอกสารว่าเครื่องซีร็อก เพราะมาจากคำว่า xerography พร้อมกับบริษัทแรกที่พัฒนานวัตกรรมนี้ให้โลกรู้จักคำว่า Xerox เปลี่ยนไปหลายยุคหลายสมัย จากสมัยเรียนได้ยินบ่อยๆ “ซีฯ เล็คเชอร์เผื่อด้วยนะ” “ฝากล็อกฯ ชีตให้ด้วย” คำๆ นี้จะอยู่คู่วงการไปอีกนาน เหมือนกับไปซื้อบะหมี่สำเร็จรูป ก็บอกว่าไปซื้อมาม่า แม้ว่าจะเปลี่ยนไปบ้างเวลาลูกค้ามาสั่งงาน “ถ่ายฯ 10 ชุด” หรือ “ก๊อป 10 ชุด” บ้างก็มีป้าแก่ๆ แถวบ้านมาบอก “อัดฯ 10 แผ่น” ก็มี สงสัยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศลาว แถวนั้นเค้าเรียก “อัดเอกสาร”

เชสเตอร์ คาร์ลสัน เป็นปูชนียบุคคลสำคัญในวงการถ่ายเอกสารโลก ผลงานในการคิดค้นเครื่องถ่ายเอกสารได้เขย่าโลกในแทบทุกวงการ ไม่ว่าจะไปที่ไหนแห่งใดในโลกปัจจุบัน ล้วนมีเครื่องถ่ายเอกสารแทรกตัวอยู่ในทุกตรอกซอกมุม นวัตกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้บรรดาธุรกิจศูนย์ถ่ายเอกสารในยุคปัจจุบัน ได้ประกอบสัมมาอาชีพหารายได้เลี้ยงตัวแล้ว เชสเตอร์ คาร์ลสัน ยังเป็นตัวอย่างนักสู้ที่ดี เพราะความสำเร็จของเชสเตอร์ คาร์ลสัน ไม่ได้มาด้วยความง่ายดายเพียงข้ามคืน แต่ได้มาด้วยความขยัน อดทน มานะพยายามเป็นแรมปี เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อย่างแท้จริง

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณ เชสเตอร์ คาร์ลสัน ทำให้โลกนี้มีเครื่องถ่ายเอกสาร

    ตอบลบ