ทำ Interlock ใช้เอง ไม่เกรงใจ Xerox ฐานโชว์โค๊ดหลอก 010-315, 077-311, 091-311, 091-312

Fuji Xerox 4110 โชว์โค๊ดสลับกันไปมา 010-315, 077-311, 091-311, 091-312 ลองตรวจเช็คเบื้องต้นดูแล้ว ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะแข่งกันฟ้อง Error ในส่วนงานที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกันเท่าไร เรียกว่าโชว์มั่ว ตั้งแต่ โค๊ด 010-315 คร่าวๆ คือฟ้องว่าชุดไดรฟ์ขับเคลื่อนชุดความร้อน มีปัญหา อาจเป็นลูกปืน แหวนรองคลัทซ์ คลัทซ์ชุดไดรฟ์ หรือไม่ก็สวิตซ์ฝาหน้าเสีย ดูตำราแล้วต้องรื้อยาว เลยแกล้งทำเป็นไม่สนใจ ปิดเปิดเครื่องใหม่ ปล่อยให้วิ่งต่อไป วิ่งได้ไม่เท่าไร กลับสลับมาโชว์ 077-311ฟ้องไปให้เช็คชุดดูเพล็กซ์ เปลี่ยนโค๊ดเหมือนโหลดหนังผิดเรื่องทีเดียว


077-311 โค๊ดนี้เริ่มจากเช็คเฟืองวันเวย์ดูเพล็กซ์ มอเตอร์ดูเพล็กซ์ แจ็กเสียบชุดดูเพล็กซ์ อาจมีกระดาษอุดอยู่ ถ้ายังไม่ใช่ให้ลองเปิดฝาหลัง เช็คฟิวส์แผงเพาเวอร์ว่าฟิวส์ขาดหรือไม่ รวมทั้งเป็นไปได้ว่าชุดไดรฟ์มีปัญหารวมทั้งสวิตซ์ฝาหน้า หรือสวิทซ์ฝาข้างปิดไม่สนิท ยิ่งดูยิ่งน่าจะรื้อเยอะ เลยทำเฉยเมย ปิดเปิดเครื่องใหม่ วิ่งงานต่อไป มีโค๊ดใหม่มาอีก 091-311 ชุดดรัมมีปัญหา ทั้งบล็อกบน เซ็นเซอร์หน้าดรัม รางตัวสไลด์ชุดดรัมไม่ลงล็อค สลับกับ  091-312 เซ็นเซอร์ก้ามปูหน้าดรัม หลุด หรือหัก ให้ตรวจสอบชุดดรัม โครงดรัม เน้นไปที่บล็อกบน เลยไปถึงเฮ้าส์ซิ่ง


หลากโค๊ดหลายที่มา จุดเกิดเหตุค่อนข้างห่างกันไกล ถ้าให้รื้อคงต้องรื้อทั้งเครื่อง มีอย่างเดียวใกล้กันพอปะติดปะต่อได้คือ โค๊ดมักจะขึ้นหลังเปิดปิดฝาหน้า ก็เลยลองย้ายสลับ Interlock ฝาหน้า กับ Interlock ฝาฟินิชเชอร์ขวา คราวนี้โค๊ดที่คุ้นเคย 012-322 ก็กลับมา โค๊ดนี้พาเรารื้อชุดฟินิชเชอร์ เพื่อเช็คสายไฟขาดในทุกเส้นของชุดเจาะ หล่อลื่นชุดเจาะจนลื่นปรื๊ดแล้วยังไม่หาย แต่จบลงได้ด้วยการเปลี่ยน Interlock ฝาฟินิชเชอร์ตัวขวา ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่เห็นเครื่องโชว์โค๊ด 012-322 แล้วดีใจ เพราะช่วยให้การวินิจฉัยโค๊ดมั่วทั้งหลาย จบลงด้วย Interlock เสียแน่นอน


สวิตซ์ฝาหน้า Canon เรียก Door Switch แต่ Fuji Xerox เรียกว่า Interlock Switch มี 3 ตัวสลับกันได้ คือฝาหน้าเครื่อง และฝาฟินิชเชอร์ซ้ายขวา ถ้า Interlock หลวมหรือเสีย ขณะเครื่องทำงาน ถ้าฝาขยับไปมาปุ่มสวิตซ์ก็จะปิดเปิดเองไม่เลือกเวลา ติดส่วนงานไหนก็จะโชว์โค๊ดตรงนั้น ติดมันให้มั่วไปหมด หากเริ่มสงสัยว่า Interlock เสีย ให้ลองกดไว้ให้แน่น หรือใช้ตะเกียบเสียบไปแทนลิ้นประตู ดูว่าอาการเปลี่ยนไปไหม หรือลองย้ายสลับกันกับฝาฟินิชเชอร์ ถ้าฝาซ้ายเสียจะโชว์โค๊ด 012-323 ส่วนฝาขวาเสียจะโชว์โค๊ด 012-322


การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สามารถใช้หางปลาขั้วเสียบตัวผู้ เสียบต่อตรงแทน Interlock ได้ โดยต่อสายเหลืองกับเหลือง แดงกับแดง เสียบครบวงจรคือประตูปิด ดึงสายเสียบออกคือประตูเปิด เวลากระดาษติดก็ต้องดึงสายออก-เข้า แทนการเปิด-ปิดประตู เพราะฟินิชเชอร์จะเช็คตัวเองทุกครั้งก่อนทำงาน ถ้าปิดฝาซ้ายจะขยับชุดสป็องค์ ปิดฝาขวาจะขยับชุดเจาะ และชุดเย็บแม็ก เพื่อให้ทุกส่วนเข้าตำแหน่ง Home ดังนั้นถ้าเสียบเข้าออกทุกครั้งที่กระดาษติด ขั้วเสียบตัวเมียพังแน่นอน จัดการพ่วงสวิตซ์เข้าไปแทนการปิด-เปิดประตู ก่อนขั้วจะบาน แถมใช้งานได้ง่ายขึ้นอีก


สวิตซ์ที่นำมาพ่วงรื้อมาจากปุ่มเปิดปิดเครื่อง Canon ตัวเก่า สายขาว-ดำ พร้อมหัวจัมพ์ ก็ตัดมาจากสายเสียบแผงอะไรสักอย่างของ IR600 เอามาแบะๆ ทุบให้แบนตัดแต่งให้เป็นขั้วเสียบหางปลา เอามาต่อคั่นวงจรแบบง่ายๆ ดำต่อดำ ขาวต่อขาว กดปิดคือครบวงจร ประตูปิด กดเปิดคือไม่ครบวงจร ประตูเปิด DIY ใส่ท่อหดหรือเทปพันสายไฟให้สบายใจ เลือกตำแหน่งติด Interlock DIY ตัวใหม่ ในที่ๆ ปิดเปิดสวิตซ์ได้ง่าย เล็งฝาฟินิชเชอร์ขวาก่อนเลย เพราะมีพื้นที่ว่างมากสุด อาศัยแปะติดกับฝาชุด Booklet แบบง่ายๆ ใช้งานได้ ไม่ซับซ้อน 

7 ความคิดเห็น: