วิธีชำแหละ “คลัทช์ รีจิส ir600” ออกมาล้าง โดยการตอก แบบถอนรากถอนโคน


สำหรับวัตถุดิบหลักของเราในวันนี้ ท่านประธาน “สลิล สไมล์” ได้เฟ้นหาอะไหล่จาก Unit 1 แม้ไม่ลึกเท่าไร แต่มีค่ามากมาย ใครๆ ก็กล่าวถึงกัน เพราะสนนราคามันอยู่ที่ประมาณ 1,450 บาท และหากขาดมันไป การจัดเรียงหัวกระดาษ ก่อนจะเข้าไปพบกับลูกดรัม อาจไม่ได้ตำแหน่งที่วางไว้ ส่งผลให้เมนูที่รังสรรค์ออกมา ไม่สวยงามดังที่คาดไว้ โดยรู้จักกันในนามของ โรคเลื่อน ... ปัญหาอาการโรคเลื่อน เกิดขึ้นได้เสมอ ในกรณีเครื่องถ่ายเอกสารของท่าน วิ่งรับใช้หาเงินมานมนาน อาการที่ว่า นั่นคือ ตำแหน่งภาพเลื่อนซ้ายบ้างขวาบ้าง ไม่เท่ากันในแต่ละใบ

โรคเลื่อน เกิดจากกระดาษวิ่งเข้าไปรับหมึกจากลูกดรัมได้ไม่ตรงกับตำแหน่งที่วางไว้ อาการนี้ทดสอบได้โดยเปิดฝา Feed แล้วกดถ่ายฯ หน้าดรัมดำๆ จะโผล่ออกมา ถ้าเสียดายหมึก หรือ เซฟคอร์ไม่แข็งแรง ก็ ปิดฝา Feed ถ่ายภาพผ้าเลื่อนต้นฉบับออกมาสัก 5 – 10 ใบ ดูว่าขอบข้างซ้ายขวา มันมีพื้นที่สีขาวตรงกันหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว ค่า X-Y มักจะไม่เลื่อนเอง ถ้าแผง DC ไม่เสีย ซึ่งอาการนี้ควรเช็คจากหน้ากระจกจะให้ผลที่แน่ชัดกว่าการยัดใส่ Feed เพราะ Feed เองก็ไม่แน่ว่าจะเลื่อนบ้างหรือเปล่า เช็คดูให้แน่เพราะคลัทช์รีจิส อายุการใช้งานนับเป็นหลักล้านแผ่น ปกติก็ไม่ค่อยเสียเท่าไร อย่าเพิ่งตีความไปว่าถ้าภาพเลื่อนเป็นเพราะคลัทช์รีจิส เดี๋ยวเค้าจะน้อยใจ



ถ้าแน่ใจแล้ว ว่าอาการโรคเลื่อนเกิดจาก “คลัทช์ รีจิส” ที่ทำหน้าที่ “จับ” และ “ปล่อย” แกนลูกยาง ที่จะจัดหัวแถวกระดาษ ก่อนเข้าสู่ทรานสเฟอร์และลูกดรัม สิ่งแรกที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ สำหรับเจ้าของร้านที่เป็นสุภาพสตรี สาวสวย น่ารัก บอบบาง การยกชุด Unit 1 ออกมาเพื่อจะมาทำการล้างคลัทช์ อาจทำได้ยาก แนะนำให้ ลากชุด Unit 1 ออกมา ใช้ Sonax ฉีดลงไปที่หน้าสัมผัสของคลัทช์รีจิส ซึ่งอยู่บริเวณด้านในของ Unit 1 ใกล้ๆ กับทรานสเฟอร์ ยึดติดกับแกนลูกยางสีเทาๆ ใช้เศษกระดาษขาว พับสักรอบสองรอบ สอดเข้าไประหว่างหน้าสัมผัสของคลัทช์ แล้วจัดการใช้มือที่เหลืออยู่ ถูๆ ไถๆ หมุนแกนรีจิสต์ไปมา

การทำงานของคลัทช์ รีจิส คือการจับและปล่อยตามจังหวะโปรแกรมที่ตั้งไว้ หากหน้าสัมผัสของคลัทช์เปื้อนฝุ่น หรือหมึก มันก็เหมือนโคลนเลอะผ้าเบรก เหล็กกับเหล็กก็ยากที่จะหนีบกันแน่นได้ Sonax จะทำหน้าที่เข้าไปละลายเศษฝุ่นหมึกหรือสนิม เปื้อนติดกระดาษออกมา เช็ดแล้วทิ้งอย่ามีเยื่อใย สอดเช็ดทิ้ง ฉีดใหม่เช็ดใหม่เรื่อยๆ ทั้งด้านหน้าคลัทช์ (เฟืองขาว) หรือด้านหลัง (สอดยากหน่อยนะ) จนกว่าหน้าสัมผัสของคลัทช์สะอาดที่สุด วิธีนี้ถึงยังไม่เกิดอาการโรคเลื่อน ก็ล้างๆ หน่อยก็ดี เศษฝุ่นเศษหมึก จะได้หายไป ไม่ไปบดขยี้หน้าสัมผัส ให้อายุการใช้งานสั้นลง

เคยทดสอบจากเครื่องที่มีอาการโรคเลื่อน แล้วใช้วิธีนี้ ก็ประคองไปได้อีกประมาณ 10,000 หน้า ค่อยล้างอีกที แต่นานๆ ไปก็จะสั้นลงกลายเป็น 5,000 ล้างที หรือหนักเข้าก็ต้องล้างทุกเช้าก่อนเปิดร้าน คราวนี้ถ้าอาการหนักขึ้น คงต้องใช้ความเป็นสุภาพสตรีสาวสวย ขอคนยก Unit 1 ออกมาให้ ไม่มีน็อตยึดอยู่แล้ว ยกออกมาได้เหมือนชุดดูเพล็กซ์ ถ้ามันหนักไปก็ถอดเอาชุดความร้อนออกก่อน ก็ลดน้ำหนักไปได้อักโข ต่อจากนั้นก็ถอดเอาคลัทช์รีจิสออกมา โดยหมุนน็อตตัวเดียว ถอดฝาครอบคลัทช์สีดำออกมา ถอดสายไฟ แล้วใช้ไขควงแบน ถอดกิ๊บล็อคตัวน้อยๆ ออกมา

จัดการนำคลัทช์รีจิส แช่น้ำมันก๊าดไว้สักคืนหนึ่ง เช้าอีกวันก็เอาไปฉีดเป่าให้แห้ง ถ้าไม่มีเครื่องเป่าลมแรงๆ ก็ไปหาตามร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ทั่วไป ยิ้มหวานๆ ขอให้เค้าเป่าลมให้แห้งแล้วประกอบเข้าไป ก็ใช้ได้ไปอีกนาน แต่หาก เช็ดก็แล้ว แช่ก็แล้ว โรคเลื่อน ยังเป็นๆ หายๆ เหลือวิธีสุดท้าย นั่นก็คือ ตอกออกมาให้หมด โดยขอแนะนำว่าถ้ามีอะไหล่คลัทช์รีจิส หลายๆ ตัว ให้เอามาตอกพร้อมกันให้หมด เพราะแผ่นเหล็กที่ถูกันไปนานๆ หน้าสัมผัสย่อมมีสึกหรอ หลายๆ คนล้างยังไงก็ไม่ดีขึ้น อาจไม่ใช่เพราะคลัทช์สกปรก แต่หน้าสัมผัส มันลื่นราบเรียบหรือสึกเป็นร่องไปหมดแล้ว

เหมือนกับเวลาไปเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ ช่างเค้าจะเจียจานเบรกให้ เพราะหน้าสัมผัสมันไม่เรียบ การทำงานก็ไม่ราบรื่น ถ้าเป็นดิสก์เบรกมอเตอร์ไซค์เก่าๆ ยิ่งเห็นภาพ เปลี่ยนผ้าเบรกใหม่แล้วจะมีเสียงเสียดสีกันระหว่างจานเบรคกับผ้าเบรค เนื่องจากจานเบรกสึก ดังนั้น หาชิ้นที่ดูดีที่สุด มีรอยน้อยที่สุด เอามาประกอบกันใหม่ เพื่อจะได้คลัทช์รีจิส ที่ดีที่สุด โดยวิธีตอกก็หาแกนเหล็กเก่าๆ จากในเครื่อง อาจเป็นแกนลูกยาง ฯลฯ อาศัยว่า ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางของมันจะสามารถสอดเข้ารูคลัทช์ได้พอดี

หันด้านที่มีบ่าคลัทช์ลงข้างล่าง หรืออีกนัยหนึ่งคือจับด้านที่มีเฟืองขาวหงายขึ้น หาลูกปืนหรือเฟืองฮีตก็ได้ รองไว้ให้มีรูกว้างๆ พอที่จะประคองแกนคลัทช์ให้ทะลุออกมาได้ เสียบแกนเหล็กแล้วก็ตอกลงไป คราวนี้คลัทช์ก็จะกระจัดกระจายออกมาเป็นชิ้นๆ จัดการแช่น้ำมันก๊าด ขัดสีฉวีวรรณ ทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกส่วนสะอาดสุดๆ แล้วค่อยมานั่งพิจารณาว่า ชิ้นส่วนไหนสึกหรอมากน้อยเพียงใด ซึ่งถ้ามีหลายตัวมาเปรียบเทียบกัน คงไม่ต้องอธิบายว่าดีกับไม่ดีเป็นอย่างไร บางชิ้นอาจสึกตัวนี้นิด ตัวนู้นหน่อย หาที่มันสึกน้อยที่สุดเอามาประกอบกัน แต่ถ้าไม่มีก็ทำให้มันสะอาดที่สุดเท่าที่จะทำได้

หน้าสัมผัส ที่ติดกับเฟืองขาว กับกระบอกเหล็ก คือส่วนสำคัญที่สุด มันจะบีบจับตามจังหวะโปรแกรมที่ตั้งไว้ ถ้าหน้าสัมผัสถลอก ปอกเปิกเหมือนยางรถไม่มีดอก ต่อให้สะอาดเพียงใด การใช้งานก็คงไม่สมบูรณ์ ซึ่งการตอกคลัทช์ออกมาดูหน้าสัมผัส จะตอบได้ทันทีว่า ถึงเวลาจะต้องเสียเงินซื้อคลัทช์ตัวใหม่แล้วหรือยัง เพราะอะไหล่ชิ้นนี้ ยังไม่มีนวัตกรรมการหล่อดอกยางมาใช้ ส่วนที่เหลือก็คงต้องสังเกตตามสภาพ ทั้งด้านในและด้านนอก ถ้าล้างให้สะอาดแล้วลองประกอบ ตอกกลับเข้าไป แล้วใช้ได้ก็ใช้ต่อไป ในระยะแรกอาจไม่มีปัญหา แต่นานๆ ไปก็คงต้องถึงเวลาเปลี่ยน เพราะคลัทช์รีจิส คืออีกชิ้นส่วนหนึ่งของอะไหล่สิ้นเปลือง เมื่อหน้าสัมผัสหมดอายุ ก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนอย่างเลี่ยงไม่ได้

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ25 สิงหาคม 2556 เวลา 19:16

    ขอบคุณมากครับ
    เขียนเหมือนนักเขียนหนังสือเลยครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับ
    #อ่านรอบแรกลืมขอบคุณครับ =D

    ตอบลบ