หน้าเว็บ

Fan ที่ไม่ใช่คนพาไปดูหนัง Fan Failure คือพัดลมพัง ขึ้นโค๊ด 042-334, 042-332, 042-330, 042-329

042-329 โค๊ดนี้เกิดจาก HVPS2 Fan Failure คำว่า HVPS ย่อมาจาก High Voltage Power Supply ส่วน Fan ก็คือพัดลม ห้ามแปลว่าคนรักคนหลง เดี๋ยวคนโสดจะงง ยังไม่มีแฟน ขึ้นโค๊ดได้ไง The HVPS2 Fan is having rotation error ก็แปลว่าพัดลมพาวเวอร์ซัพพลายไฮโวลต์ไม่หมุน อันดับแรกเค้าว่าให้ลองปิดทิ้งไว้สักพัก แล้วเปิดใหม่ ดูว่าโค๊ดหายไหม ถ้าไม่ก็ไล่ตรวจเช็คพัดลม ว่าอะไรทำให้มันไม่หมุน


042-330 แปลตรงตัวตามตำราคือพัดลมระบายความร้อนมีความอ่อนล้า Fuser Exhaust Fan Failure โค๊ดนี้มักเจอในเครื่องใหญ่จำพวก X4110 ถ้าปิดเปิดใหม่ไม่หาย ให้ตรวจพัดลมสำคัญ 3 ตัวในเครื่อง ได้แก่ พัดลมหอยโข่งตัวเล็ก เปิดหลังเครื่องมาอยู่ด้านบนซ้าย ตัวต่อมาคือพัดลมหน้าชุดความร้อน และพัดลมใต้ชุดเบลท์ ถ้าพัดลมทั้งสามตัวยังหมุนดี ไม่มีความอ่อนล้าใดๆ ให้ลองเช็คหรือสลับแผงเล็กสีเขียว ที่อยู่เหนือแผงพาวเวอร์ ตรงข้างพัดลมหอยโข่งข้างหลังเครื่อง

ถ้า Xerox ไร้ทางออก โชว์โค๊ด 047-112, 047-211, 047-212, 047-310, 047-320 ลองเช็คชุดทางออกดูนะจ๊ะ

047-112 เมื่อชุดทางออก Exit 1 OCT เกิดไร้ทางออก Home Position Sensor did not turn on เซ็นเซอร์เปิดไม่ติด ก็แสดงว่ากระดาษต้องติด รื้อเอากระดาษออกแล้วมาหาคำตอบกัน OCT ย่อมาจาก Offset Catch Tray ซึ่งถ้าเป็นเครื่องรุ่นเล็กพวก X5230, X5335 ก็จะอยู่ตำแหน่งฝาข้าง ด้านบนซ้าย ชุดสุดท้ายก่อนส่งกระดาษไปยังฟินิชเชอร์ หรือถ้าเครื่องไหนไม่มีฟินิชเชอร์ OCT ก็จะผลักเลื่อนกระดาษให้จัดชุด ก่อนบ้วนออกไปยังถาดรับ ถ้าเจอโค๊ดนี้ลองถอดมาเช็คก้านโซลินอยด์ ถอดชุด OCT มาทำความสะอาด หรือบางทีปิดเปิดเครื่องใหม่ก็หาย


047-211 โค๊ดนี้ยังอยู่ในชุด Offset Catch Tray รางสไลด์เกเร ชุดทางออกฝืด หัวมอเตอร์ไม่ยอมโยกขยับ ให้หล่อลื่นรางสไลด์ให้ลื่นปรื๊ด หรือเสาะหาสาเหตุที่ทำให้มันฝืด อาทิ เฟืองหัวมอเตอร์ไม่แน่น ตรวจเช็คเฟืองทางออก เฟืองรูดเฟืองแตกหรือไม่ แต่เท่าที่เจอโค๊ดนี้ เครื่องยังทำงานได้ แค่ OCT ไม่โยกจัดชุดให้ ใครที่ซื้อเครื่องมาเพื่อเรียนซ่อม ก็ลองถอด OCT ออกมาใส่ใหม่ จะได้เป็นช่างสมใจ ส่วนใครซื้อมาทำมาหากิน ก็ใช้มือแยกชุดไปก่อนนะ แต่ถ้ารื้อจบหลักสูตรแล้ว โค๊ดยังไม่หาย ให้ลองเคลียร์ NVM : 742-100 ถ้าค่าเป็น 1 แก้เป็น 0 ถ้าค่าเป็น 0 แก้เป็น 1

บอกให้หมด เดี๋ยวว่าไม่แมน โค๊ดชุดสแกน 062-360, 062-371, 062-380, 062-386, 062-393, 062-396, 062-397

062-360 Carriage Home Position Error Is Detected ชุดสแกนไม่กลับเข้าสู่ตำแหน่ง Home ให้ถอดกระจกออกมา หล่อลื่นรางสแกน เป่าเซ็นเซอร์ ทำความสะอาดชุดสแกน ให้ใหม่เอี่ยมอรุ่มเจ๊าะ เหมือนกับวันที่ออกมาจากโรงงาน แต่ถ้าทำแล้วยังไม่ต๊าซ ลองเคลียร์โค๊ด  NVM : 715-017=1 NVM : 715-018=1 หรือปิดทิ้งไว้สัก 10 นาที ค่อยเปิดมาดูผลงานอีกที ถ้ายังไม่ดีอาจเป็นที่แผง IIT

062-371 Scanner Lamp Error แปลตรงตัวก็หลอดสแกนเสีย ตรวจสอบหลอดสแกนใต้กระจกว่ายังสว่างดีอยู่ไหม ถ้าหลอดยังดีอยู่ก็อาจเป็นที่แผงเสีย ให้ลองเคลียร์โค๊ดดูก่อน NVM : 715-017=1 NVM : 715-018=1 NVM : 715-030=1 หรือถ้าเป็นเครื่องเล็ก X5230 อาการนี้อาจเกิดจากสแกนไม่เข้า Home ให้ทำความสะอาดเซ็นเซอร์ ตรวจเช็คมอเตอร์สแกน สายแพ รวมทั้งแผงใต้กระจก MCU

หัวใครหัวมัน หัวฝีด Xerox ของฉัน ต้องไม่ขึ้นโค๊ด 062-277, 062-278, 062-300, 062-311, 062-345, 062-355

062-277 DADF Communication Fail โค๊ดนี้เกิดจาก Duplex Automatic Document Feeder (DADF) หรือที่เรียกกันติดปากว่า หัวฟีด เกิดการสื่อสารล้มเหลวขึ้นระหว่าง ESS PWB แผงควบคุมหลักและ DADF PWB แผงหัวฟีด เบื้องต้นให้ลอง ถอดแจ๊คเสียบใหม่ เช็คสายไฟทั้งหลาย แล้วลองปิดเปิดเมนสวิทซ์ดูก่อน 


062-278 Scanner Fault ไฟไม่เข้าชุดสแกน เช็คสายสแกน สายไฟอื่นๆ เน้นไปที่สาย DADF ที่ห้อยอยู่ข้างหลังหัวฝีด เพื่อลงไปเสียบตัวเครื่อง ลองถอดเข้าออกเสียบใหม่ หมุนแท่งสกรู 2 อันให้แน่น หรือปิดเปิดเครื่องใหม่ ถ้ามั่นใจว่าทุกอย่างต่อเชื่อมกันสนิทดีแล้ว เป็นไปได้ว่าสายแพเสีย ให้ลองสลับสายแพ หรือถอดชุดเลเซอร์มาเช็ค

โค๊ดลิ้นกับฟัน ผิวดรัมกับผงหมึก 092-311, 092-320, 092-910, 092-912, 093-326, 093-932

092-311โค๊ดนี้อาการเบื้องต้น เกิดจากเซ็นเซอร์เช็คหมึกที่ผิวดรัมไม่ได้ สาเหตุอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หลักๆ ที่มองข้ามไม่ได้คือหมึกกับดรัม ไม่ว่าจะเป็นหมึกแท้เทียมๆ หรือดรัมเทียมแท้ๆ แต่ถ้าโชว์โค๊ดนี้ คือเครื่องเช็คหมึกกับผิวดรัมไม่ได้ ปัญหาอาจเกิดจากหมึกในเฮ้าส์ซิ่ง  ลองเช็คหมึกในเฮ้าส์ซิ่ง ถ้าใช้หมึกเทียม อาจแก้ง่ายๆ หลอกให้ตายใจ ใช้วิธีเติมหมึกแท้เข้าเฮ้าส์ซิ่งสัก 4 – 5 ช้อน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน พอเจอหมึกแท้ หรือดรัมแท้ อาจหายงอนเลิกโชว์โค๊ดได้ 

การเช็คหมึกที่ผิวดรัมไม่ได้ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก เช่น ตัวอัดหมึกเข้าเฮ้าส์ซิ่ง ชุดหมึก สปริง เช็คเฟืองบิดเฮ้าส์ซิ่ง ตั้งมาร์คเฟืองบิดใหม่ อาจประกอบเฮ้าส์ซิ่งไม่ดี หรือก้ามปูเฮ้าส์ซิ่งหัก เฮ้าส์ซิ่งไม่หมุน ลานโยกเฮ้าส์ซิ่งฝืดหรือบางทีอาจเป็นที่ส่วนเกี่ยวข้องกับชุดดรัม เช่น ชุดเบลท์ เฟืองเบลท์ฝืด ขั้วสปริงหลังดรัม หรือเซ็นเซอร์หน้าดรัม บางทีอาจต้องลองสลับชุดดรัม ชุดเฮ้าส์ซิ่ง สลับตัวเช็คดรัม หรือบางทีเซ็นเซอร์หน้าดรัมหลุด ก็โชว์โค๊ดนี้

Xerox Error Code ชุดดรัม ชิพดรัม 091-314, 091-320, 091-912, 091-913, 091-916

091-314 ถ้าเป็นเครื่องใหญ่พวก X4110 ให้ตรวจสอบชุดดรัม หรือชิพดรัม อาจเป็นปัญหาที่ตัวชิพ หรือตัวอ่านชิพ แต่ถ้าเป็นกับเครื่องเล็กจำพวก X5230 ลองตรวจสอบชุดดรัม ชิพดรัมก่อน ถ้าทุกอย่างปกติดี ให้ลองตรวจสอบพัดลมใต้กระบอกหมึกดูอีกที อาจเป็นสาเหตุให้ขึ้นโค๊ดได้

091-320 ชุดโครงดรัมมีปัญหา ให้ลองเช็คขั้วดรัม หรือสลับโครงดรัมทั้งโครงดู ตัวเช็คเซ็นเซอร์ก้ามปูหน้าดรัมก็เกี่ยว หรือถ้ามีชุดดรัมชุดเดียว ให้ทำความสะอาด เอาให้เอี่ยมเหมือนออกโรงงานมาใหม่ เน้นใส่ใจเป็นพิเศษที่สไลด์สายโคโรนาบล็อกบน สาเหตุที่ทุกคนอาจมองข้าม

อวตารชุดดรัม Xerox 5335 มาใช้กับ Xerox 5230

ประดุจเพื่อนร่วมรุ่น Xerox 5230 กับ Xerox 5335 วิ่งเล่นไล่เตะกันมาแต่เล็กแต่น้อย มีปัญหาอะไร ก็คอยแลกเปลี่ยน เรียนรู้กันไป อะไหล่ใช้แทนกันได้เกือบหมด จนพอเวลาผ่านไป X5230 ดูจะอืดไป สู้ความไวกับความสดใหม่ของ X5335 ไม่ได้ จึงได้รับความไว้วางใจมากกว่า อะไหล่รอบเดียวก็หาง่ายกว่า ต่างจาก X5230 ที่เริ่มตกรุ่น กลายเป็นอะไหล่เวียนเปลี่ยนมาหลายรอบ ชุดโครงดรัมก็เช่นกัน จากตอนที่แล้ว “ล้างเปลี่ยนดรัม Xerox 5230”  มาถึงตอนนี้ เรามาอวตาร ชุดดรัม X5335 ให้เอามาใช้กับ X5230 ที่มีอยู่กันดีกว่า


โครงและฝาพลาสติก X5230 กับ X5335  หล่อหลอมมาจากเบ้าพิมพ์เดียวกัน ต่างกันแค่ตำแหน่งการวางชิพ X5230 ชิพอยู่ริมฝาบน ติดกับชุดเบลด ส่วน X5335 ชิพอยู่ที่ฝาข้าง ด้านที่มีลิ้นดึงเวลาถอดชุดดรัมออกมาจากเครื่อง การนำชุดดรัม X5335 มาปรับใช้กับ X5230 หลักสำคัญก็อยู่ที่ฝาข้างที่มีแจ็กเสียบอยู่นี้เอง ซึ่งสิ่งที่แตกต่างกันของสองรุ่นนี้คือแจ็คสายไฟ โดยถ้ามีชุดโครงดรัมเก่า X5230 ที่พอใช้ได้ก็ถอดเปลี่ยนฝาข้างพร้อมแจ็คสายไฟ และเซ็นเซอร์ผงเหล็กไปทั้งชุด ดูจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด

ล้างเปลี่ยนดรัม Xerox 5230 ไว้ใช้รอบเดียว อีกสักครั้ง

ลูกดรัม เปรียบได้ดั่งหัวใจหลักของเครื่องถ่ายเอกสาร เพราะลูกดรัมมีหน้าที่เรียกหมึก ให้ออกมาติดกับกระดาษ งานจะออกมาดีมีคุณภาพได้ ต้องอาศัยลูกดรัมเป็นหัวใจหลัก โดยในชุดโครงดรัมจะมีส่วนประกอบต่างๆ ช่วยเสริมการทำหน้าที่ของลูกดรัม ประกอบด้วย ชุดเบลด โรลเลอร์ชาร์จ ชุดผงเหล็ก แกนแม่เหล็ก ฯลฯ ซึ่งชุดโครงดรัมของ Fuji Xerox ทั้งหมดเค้าออกแบบคำนวณมา ให้ใช้ได้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไป เพื่อคุณภาพงานที่ไฉไล โดยใช้ชิพเป็นตัวกำหนดอายุการใช้งาน


ช่างไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แค่ปิดชิพ เปิดฝาเบียร์ยังยากกว่า ไม่ว่าจะจั๊มตัว 8 ขา หรือเอาแค่พ่อค้าอาฆาต NVM : 740-529=1 ยืดชิพดรัมใช้กันไปจนดรัมแหก ค่อยแกะมาเปลี่ยน ส่วนอะไหล่อื่นในโครงดรัมทั้งหลายถ้ายังดีอยู่ ก็เอามาล้างใช้ เปลี่ยนแค่ลูกดรัมใหม่ ทำความสะอาดเบลด กับโรลเลอร์ชาร์จ ก็ใช้ต่อไปได้อีกนาน ถอดเรียงตามรูปเลย 1 – 6 ยกฝาบนออก ดรัม (7) เบลด โรลเลอร์ชาร์จ (8) เช็คแกนปั่นกากหมึกหน่อยก็ดี บางทีกากหมึกจับแข็งตัวตรงขั้วหมุน อาจเป็นภาระลูกหลานได้ในอนาคต

ผ้าเวบ Canon iR7105 เอามาโมดิฟาย ใช้กับ Xerox 4110 ได้นะ รู้ยัง?

“ผ้าเวบ” คืออุปกรณ์ทำความสะอาดลูกกลิ้งความร้อน ที่ออกแบบมาสำหรับเครื่องถ่ายเอกสารรุ่นใหญ่ทั่วไป มีลักษณะเป็นม้วน คล้ายผ้า มีความนุ่มและชุ่มชื้นไปด้วยซิลิคอนออย หลักการทำงานคือ ขณะลูกกลิ้งความร้อนหมุนรีดหมึกให้ผนึกกับกระดาษ ผ้าเวบ ก็จะค่อยๆ หมุนเช็ดลูกกลิ้งความร้อนไปทีละนิด ไม่ให้เศษหมึกที่เหลือจากการผนึกภาพ กลับไปติดกับกระดาษอีก ผ้าเวบจึงจัดเป็นอะไหล่สิ้นเปลือง ที่ใช้แล้วหมดไป หมดม้วนก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ไม่สามารถเอากลับมาใช้ซ้ำได้อีก


ผ้าเวบไม่ว่ายี่ห้อไหน ก็มีหน้าที่เดียวกันคือเช็ดทำความสะอาดลูกฮีต Fuji Xerox มีชื่อเรียกผ้าเวบอย่างเป็นทางการคือ Fuser Cleaning Cartridge (Fuser Web) ใช้ด้วยกันได้หลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Xerox 4110 4112 4127 4590 4595 D95 D110 d125 D136 ส่วนทาง Canon ทางการเรียก Fuser Cleaning Web roller ใช้กันได้แทบทุกรุ่นตั้งแต่ iR7105 7095 7086 7200 8500 5570 6570 5000 6000 600 ส่องดูตามเนื้อผ้าแล้ว ไม่ต่างกันโดยหลักการ จะมีบ้างก็เรื่องโครงสร้างและราคา ค่าการตลาดไม่เท่ากัน

093-912 Xerox 5230 ท่อหมึกตัน แถมโค๊ดใกล้กัน 093-311, 093-312, 093-320, 093-924

ปรินท์เอกสารถ่ายงานอยู่ดีๆ Xerox 5230 ก็เกิดอาการเสียงดังแกร๊กๆ รัวๆ ดังเองหยุดเอง เหมือนนักเลงรัวปืนกล พอหมดแม็กก็หยุดดัง พอสั่งปรินท์ก็ขึ้นนกเหนี่ยวไกใหม่ ทั้งที่งานยังลื่นไหล ภาพถ่ายยังคมชัด ลูกค้ายังรองาน เราก็ยังฝืนดึงดันถ่ายฯ ต่อไป สักพักวัยรุ่นเริ่มเรียกร้องความสนใจ ดังลากยาวเอาให้สะใจ เห็นใครไม่ว่าไงก็โชว์โค๊ดซะเลย 093-912 ฟ้องด้วยว่าให้เปลี่ยนหลอดหมึกใหม่ งานนี้ปิดเครื่อง หยิบไขควงเปิดฝาหน้า ไม่ต้องเปิดตำราก็เดาได้ไม่ยาก กระบอกหมึกมีปัญหาแน่นอน

 

ถอดหลอดหมึก ชุดดรัม แกะฝาหน้า ฝาเทรย์รับกระดาษ ก็เป็นไปตามคาด ท่อส่งหมึกหลุดจากขั้วกระบะหมึก โชว์สปริงเกลียวปั่นขัดกันกับท่อหมึกให้เห็นกันจะๆ หมึกร่วงกระจายเต็มหัวเลเซอร์ งานนี้ได้เวลาทำความสะอาด แต่ต้องหาข้อผิดพลาดก่อน ถอดเอากระบะหมึกออกมาลองเอามือหมุนเฟืองปั่นหมึก เคราะห์ยังดีเฟืองไม่มีแตกบิ่น เคาะหมึกที่แข็งค้างในท่อออกมา ตรวจเช็คจุดเชื่อมต่อระหว่างปลายท่อ กับเฮ้าส์ซิ่ง ขณะเสียบชุดดรัมเข้าไป สปริงต้องยืดออก เปิดช่องทั้งสองให้หมึกไหลลงเฮ้าส์ซิ่งได้สะดวก

 

Xerox 5230 โค๊ดผีบ้า 077-904 วอร์มปุ๊บ โชว์กระดาษติดปั๊บ

หลายต่อหลายครั้งที่เราตกอยู่ในกับดักของ First-instinct fallacy มันทำให้เราทำสิ่งที่นึกออกครั้งแรกโดยไม่ได้ตะขิดตะขวงใจอะไรเลย คล้ายกับ Conspiracy Theory ทฤษฎีสมคบคิด ที่มักขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “เค้าว่า ...” ซึ่งเค้าที่ว่านี้เป็นใครก็ไม่รู้ แล้วสมองเราก็พัฒนาระบบนี้มาช่วยประหยัดพลังในการคิด แต่มันไมได้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป บางทีเราก็รู้สึกขำคนที่ยังใช้ Windows 95 อยู่ ในขณะที่เราเองก็ยังใช้ชุดความเชื่อเดิมที่ยึดมาตั้งแต่สมัย Window 95 ยังรุ่งเรือง และบางครั้ง ... มันก็ใช้ได้ผลดีทีเดียว


ทุกวันนี้ระบบวินิจฉัยตัวเอง Self-diagnostic ของเครื่องถ่ายเอกสาร พัฒนาล้ำหน้ากันจนช่างแทบจะตกงาน แต่บางครั้งก็ต้องอาศัยประสบการณ์ ร่วมกับจินตนาการ ในการวินิจฉัยอาการ ร่วมกับ Error Code ล่าสุด Xerox 5230 ปิดชิพตัว 8 ขาหมดแล้ว ชุดดรัมวิ่งงานมานานจนลืม เบลดกักกากหมึกกับขุยกระดาษอัดแน่นจนล้นออกมาเลอะงาน เลยถือโอกาสถอดเบลดชุดดรัมมาเป่าล้างทำความสะอาด เสร็จแล้วก็ทาแป้งประกอบกลับเข้าไปดังเดิม พอเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่ ยังไม่ทันทำอะไรก็โชว์โค๊ด 077-904 เสียแล้ว

ลูกดรัมฝืด งานก็อืด เงินก็อด Error Code 042-310, 042-320, 042-321, 042-322, 042-323, 042-325

042-310 ตำราเค้าว่า Main Motor Failure แปลตรงตัวก็เมนมอเตอร์เสีย โค๊ดนี้มักเกิดกับเครื่องขาวดำเล็ก จำพวก X5230, X5330 หรือ X5335 ลองเปิดฝาหลังมาเช็คเมนมอเตอร์ หรือสายไฟ 24V จากแผง MCU ที่มาเข้าเมนมอเตอร์ ตำแหน่งมอเตอร์อยู่แถวๆ ชุดดรัม ถ้ามอเตอร์ยังดี ไฟจากแผงจ่ายมาปกติ สาเหตุอาจเกิดจากน้อนดรัมไม่ยอมหมุน ชุดดรัมฝืด หรือชิพดรัมหมด สายพานขาด อันนี้ข้ามขั้นตอนไปมาได้ เอาที่สะดวกใจจากง่ายไปยาก ถ้าไม่อยากรื้อเมนมอเตอร์ ก็ลองเอาแป้งทางเบลดดรัม หรือลองเปลี่ยนชิพดรัม หรือทำความสะอาดตัวรับชิพดรัมดูก่อนก็ได้ เผื่อจะได้ไม่ต้องรื้อแผง รื้อมอเตอร์


042-320 ไปจนถึง 042-323 ก็เช่นกัน "Drum Motor Drive Fault" appear when an error has occured with the Drum drive motor. สาเหตุคือดรัมไม่หมุน ตำราเค้าว่ามอเตอร์ขับดรัมมีปัญหา ถ้าเป็นเครื่องสี ให้ตรวจเช็คหาสาเหตุตามชุดดรัมสีนั้นไปเลย 042-320 ชุดดรัมสีเหลือง Yellow Drum Motor Drive Fault  042-321 ชุดดรัมสีแดง Magenta Drum Motor Drive Fault  042-322 ชุดดรัมสีฟ้า Cyan Drum Motor Drive Fault  และโค๊ด 042-323 ชุดดรัมสีดำ Black (K) Drum Motor Drive Fault โค๊ดสุดท้ายพิเศษหน่อย

ติด Invert เรื่องเล็ก ติด Duplex เรื่องไม่ลับ พร้อมรับมือ 077-128, 077-129, 077-130, 077-131, 077-132

077-128 ให้สังเกตตำแหน่งกระดาษที่ติดจริง ถ้าติดยับเป็นพัดจมอยู่ที่เขี้ยวแยกชุดความร้อน ให้ทำความสะอาดเขี้ยวแยก เพราะเขี้ยวแยกมีหน้าที่แยกกระดาษ ออกจากลูกกลิ้ง หลังโดนรีดความร้อน หากมีเศษหมึกมาเกาะเขี้ยวด้านในจนหนาเตอะ เขี้ยวก็จะไม่แนบกับลูกกลิ้ง กระดาษวิ่งมาก็จะชนเขี้ยวสะดุดยับ หรือถ้าเศษหมึกมาเกาะด้านหลังเขี้ยว หมึกร้อนๆ เหนียวๆ ก็จะทำหน้าที่เป็นกาวดักจับกระดาษติดหนึบอยู่คาเขี้ยว ให้ใช้ผ้าชุบทินเนอร์เช็ดทำความสะอาดเอาหมึกเหนียวออกจากเขี้ยวให้เรียบร้อย


หากกระดาษผ่านชุดเขี้ยวแยกไปแล้ว จอดอยู่ตรงไกด์ชุดอินเวิร์ด สันนิษฐานว่าโซลินอยด์ชุดอินเวิร์ดมีปัญหา ให้แก้ไขจากง่ายไปยาก เริ่มจากซักแห้งโซลินอยด์ก่อน ใช้รอนสันหยอดไปที่ก้านโซลินอยด์ แล้วลองขยับไปมา ถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้ลองถอดโซลินอยด์มาล้างทั้งเบ้าและแกนให้สะอาด ก่อนถอดอย่าลืมมาร์คจุดเอาไว้ เผื่อประกอบมาแล้วยังไม่หาย ให้ตั้งโซลินอยด์ใหม่ โดยอาศัยอ้างอิงจากจุดมาร์คเดิม ระยะที่ถูกต้องคือระยะที่โซลินอยด์ถูกดูดลงไปสุด ไกด์กระดาษจะอ้าให้กระดาษผ่านไปได้อย่างสะดวก