นักลงทุนที่ดี ก่อนจะซื้อหาสินค้าอะไรมาเพื่อใช้งาน ต้องคำนวณให้ถ้วนถี่ ว่าจะซื้อมาเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยหาเงินเพิ่มให้ หรือได้มาแล้ว ต้องทำงานเพิ่มเพื่อหาเงินไปจ่ายให้มันอีก ... เครื่องถ่ายเอกสารก็เช่นกัน เมื่อนำมาช่วยทำงานหาเงิน นอกจากอะไหล่หมุนเวียนที่ต้องจ่ายเป็นประจำแล้ว อะไหล่บางจำพวก วิศวกรเค้าก็ออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานแบบรอวันพัง เพราะรู้ทั้งรู้ว่าพลาสติกไม่ทนทานเท่าเหล็กหรืออลูมิเนียม แต่ก็ออกแบบให้เอามาใช้งาน ถ้าหักหรือพัง เค้าก็ทำอะไหล่เสริมมาขายให้ และแต่ละชิ้นก็แสนแพง บางชิ้นไม่มีผลิตมา ก็ต้องไปควานหามือสองตามเครื่องซาก ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะหาได้
แพงเพียงใดก็ต้องซื้อ เพราะเซ็นเซอร์บางจุด ไม่ยอมให้เครื่องฯ ทำงาน หากเพียงปลายแหลมของแผ่นพลาสติกน้อยๆ ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งที่ถูกต้อง ... กรณีมีอะไหล่ขายก็ถือว่ายังโชคดี แต่ถ้าอะไหล่บางตัว หาไม่ได้ หรือหาได้ก็เป็นของเลียนแบบ น็อตไม่ตรงรู เซ็นเซอร์ไม่ตรงตำแหน่ง ใช้ไปไม่นานก็พังอีก ... สิ่งหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้ หากยังต้องการให้เครื่องฯ ทำงานหาเงินให้อยู่ นั่นคือการนำอะไหล่จริงที่บุบสลาย มา Modify เพื่อให้ใช้งานต่อไปได้ ... เพราะหากเครื่องถ่ายฯ ตัวเหยียบแสน ต้องถูกนำไปแยกส่วนขายทอดตลาด หรือชำแหละชั่งกิโลขาย เพียงอะไหล่พลาสติกบางตัวแตกหัก ก็เป็นที่น่าเสียดาย
อย่างที่เห็นในหลายๆ รุ่น เครื่องตระกูล IR600 เริ่มจากฝาทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น Finisher ฝาหน้า ฝาฝีด ฝาข้าง ฝาชุด Bypass โดยเฉพาะฝาที่ต้องใช้น็อตเกลียวปล่อยยึด รวมถึง Tray รับกระดาษ ขากดชุด Duplex ถาดกระดาษต่างๆ รวมไปถึงชุดขับเคลื่อนถาด 1 แผงหน้าจอ ฯลฯ อะไหล่เหล่านี้ เป็นพลาสติกกรอบ หากแตกหักไป เซ็นเซอร์บางตัวตรวจจับได้ ก็ไม่ยอมให้เครื่องฯ ทำงาน ... แต่ด้วยความที่เป็นพลาสติก จึงไม่ยากที่จะนำมาซ่อมบำรุงเอาไว้ใช้ทำงานทำเงินต่อไปได้ ซึ่งจะสวยงามหรือไม่ ก็แล้วแต่ฝีมือของช่าง Modify
เริ่มจากโจทก์ข้อแรกเลย คือเศษชิ้นส่วนอะไหล่ตัวนั้น เก็บรักษาไว้ให้ดีทุกชิ้นส่วน เพราะหากคลาดเคลื่อนไปอาจทำให้แก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น โดยสิ่งที่จะต้องเตรียมแบบพื้นฐานบ้านๆ คือ กาว จะเป็นกาวช้างหรือกาวร้อนก็ได้ เพราะหน้าที่ของมันเพียงเอามาช่วยประคองให้อะไหล่พลาสติกที่แตกหัก กลับไปอยู่สภาพเดิมให้มากที่สุด เพราะโดยเนื้อกาวละเอียดสุด พื้นที่ Error น้อยสุด แต่จะให้แข็งแรงเหมือนใหม่คงไม่ได้ สิ่งที่จะต้องทำต่อมาคือ ทำอย่างไรให้มันแข็งแรง หากพื้นที่มีจำกัด จำพวกชุดโครงขับเคลื่อนถาด 1 พอใช้กาวช่วยประกอบให้เข้าที่เสร็จแล้ว ก็จำเป็นต้องดามให้แข็งแรง โดยใช้หัวแร้ง ไส้แม็กยาวๆ หรือ คลิป เข้ามาช่วย
การ Modify แต่ละสูตร แต่ละอะไหล่ แต่ละตำแหน่งการใช้งาน ไม่เหมือนกัน ซึ่งคงอธิบายได้ยาก แต่สามารถแก้ไขเองได้ง่าย หากเพียงแต่รู้ลักษณะการทำงานของมัน เซ็นเซอร์สำคัญอยู่ตรงจุดไหน และจุดไหนขาดไม่ได้ สำหรับจุดที่ต้องการความแข็งแรง หัวแร้งสามารถให้ความร้อนผ่านไส้แม็กหรือคลิป เพื่อกดลงไปในเนื้อพลาสติกเดิมได้ เห็นได้บ่อยในชุดโครงขับเคลื่อนถาด 1, หัวกดชุด Duplex, Sensor Top Cover Finisher ชิ้นส่วนเล็ก ใช้คีมดัดไส้แม็กเป็นรูปตัว S ช่วยประสานให้แข็งแรงได้ แต่ถ้าชิ้นส่วนใหญ่มานิด ก็ใช้คลิปดัดเอา โดยใช้พื้นฐานรูปตัว S หรือรูปตะขอ เพื่อความแข็งแรง ถ้าเสริมไปเป็นเส้นตรงๆ ไม่มีตะขอเกี่ยว อีกไม่นานก็หลุด


ซิลิโคนอีพ็อคซี่พุ๊ตตี้ (2 Ton Epoxy Putty) มีลักษณะเป็นแท่งเหมือนดินน้ำมัน 2 ก้อน ใน 1 ชุด ราคาชุดละประมาณ 125 บาท กาวมหาอุด 2 ตัน เวลาใช้ต้องตัดกาวดินน้ำมัน แท่ง A และ แท่ง B ในปริมาณที่ต้องการเท่าๆ กัน มาปั้นรวมกันจนเป็นเนื้อเดียว มีเทคนิคเอานิ้วจุ่มน้ำเล็กน้อย ไม่ให้เหนียวติดมือ แล้วจัดการปั้นหล่อขึ้นรูปที่ต้องการ อาทิ ขายึดน็อต ตามฝาต่างๆ หรือขายึดน็อตแผงปุ่มกด (Control Palette) หรือเสริมสลักยึดฝาข้าง (ที่เสริมคลิปแล้ว) กาวจะแห้งภายใน 1 ชั่วโมง ระหว่างที่ยังไม่แห้ง สามารถลูบปรับรูปร่างตกแต่งให้สวยงาม เพราะเมื่อแห้งจะแข็งมาก หากจะแต่งต้องใช้ตะใบ

กาวอีพ็อคซี่ทั้งแบบใสและแบบสีเหล็ก เมื่อนำมาผสมกันแล้ว จะแห้งเร็วกว่า ซิลิโคนอีพ็อคซี่พุ๊ตตี้ คือเวลาประมาณ 5 – 10 นาทีเท่านั้น นัก Modify ควรบรรจงตักหรือปาดกาวที่ผสมแล้วไปซ่อมวัสดุก่อนที่จะแห้ง อธิบายง่ายๆ ว่ามีลักษณะเป็นกาวน้ำ คล้ายกับกาวร้อน แต่มีเนื้อ Resin หรือเนื้อพลาสติกมากกว่า ดังนั้นจึงสามารถใช้เป็นกาวหรือขึ้นรูปได้ในระดับหนึ่ง และพร้อมจะแข็งเป็นก้อนในเวลาสั้นกว่าซิลิโคนอีพ็อคซี่พุ๊ตตี้ ซึ่งสามารถปั้นเป็นรูปได้ แต่แห้งช้ากว่า หากเรียงลำดับความละเอียดของอีพ็อคซี่ทั้งสามแบบ ซิลิโคนอีพ็อคซี่พุ๊ตตี้ คือคนท้องผูก กาวอีพ็อคซี่สีเหล็ก คือคนท้องเสียเล็กน้อย และกาวอีพ็อคซี่สีใส คือคนท้องเสียหนัก ส่วนกาวร้อน ก็ปวดบิดจู๊ดๆ ส่งโรงพยาบาลเติมน้ำเกลือ ประมาณนั้น

การ Modify แบบต่างๆ บางทีไม่ต้องรอให้แตกหัก แค่เห็นรอยแตกร้าวก็ควรจะเสริมเติมแต่ง ให้ใช้งานได้ทนทานกว่าของเดิม เพราะการแตกหักอาจลามได้ หากรอให้มันแตกจนเครื่องจอดการซ่อมก็จะยากเย็นขึ้น น็อตแตก 1 ตัว ซ่อมง่ายกว่าแตกหมดทุกตัวแล้วหลุดออกมาทั้งยวง คราวนี้หาตำแหน่งเดิมยากแน่นอน ... ส่วนเรื่องความสวยงามก็ว่ากันไปแล้วแต่ฝีมือนัก Modify ใครจะสร้างสรรค์เพียงใด ... ถ้าทำไม่ได้จริงๆ แล้ว โดยมากช่างที่มีน้ำใจเค้าจะ Modify ให้ก่อน ถ้าไม่ได้จริงๆ เค้าก็หาอะไหล่มาเปลี่ยนให้ก็ไม่เลวนัก ... แต่ถ้าหนักหน่อย เอะอะหาไม่ได้ ให้เปลี่ยนเครื่องใหม่เลยก็มี คนรอขายเครื่องใหม่ มีเยอะแยะแทบเดินชนกันตาย ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น