อากาศร้อนๆ เช่นนี้ อะไรจะดีไปกว่าการนอนแช่อ่างน้ำจากุซซี่
ให้สายน้ำบีบบี้คลายกล้ามเนื้ออันอ่อนล้าจากการทำงานมาอย่างยาวนาน
แถมด้วยขัดเนื้อถูตัวให้สะอาดเอี่ยมอ่อง ขยำขยี้ฟองนุ่มๆ ชุ่มฉ่ำไปด้วยกลิ่นโอโมหอมจรุงใจ
... เฮ้อ ... เรื่องของเรื่องถอดน้องบล็อกออกมา ว่าจะปัดเป่าทำความสะอาด
ดันไปทำสายโคโรนาขาดซะอย่างงั้น ... ไหนๆ ก็ไหนๆ ค่อยๆ ถอดออกไปทีละชิ้นๆ จนน้องบล็อกเปลือยเปล่า
เสร็จแล้วก็จับโยนลงอ่าง ขัดสีฉวีวรรณให้สดชื่นแจ่มใสซะหน่อย
หลังจากขึ้นจากน้ำก็พาไปอาบแดดยามบ่าย คลายเครียดด้วยสายลมจากโบลเวอร์
จนแน่ใจว่าแห้งสนิท ... คราวนี้ก็ถึงขั้นตอนสำคัญของรายการ นั่นคือการสอดใส่สายโคโรนาลงไปในบล็อก
... ซึ่งจะว่ายากก็ไม่ยาก จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย แม้จะใส่กันมาเป็นหลายปีดีดัก
แต่ก็มีบ้างที่สายตึงไปก็ขาด หย่อนไปก็ใช้ไม่ได้ สมัยปีแรกๆ ใส่สายบล็อกบน 2
บล็อคล่าง 3 ควรใช้สายแค่ 5 ฟุตก็พอถมเถ ดันซัดซะเกือบหมดม้วน ม้วนหนึ่งมันยาวตั้ง
20 เมตรแน่ะ
สายโคโรนาที่ใช้อยู่ ขนาด 0.06 มม. ร้านพี่ร้านน้องกันเตือนมาว่า เคยลองใช้เส้นใหญ่กว่านี้มาแล้ว
เพราะใส่ง่ายดี แต่ลูกดรัมกลายเป็นกลุ่มดาวในห้วงอวกาศไปเลย ... สายโคโรนาเท่าที่รู้จักกันปกติมันเป็นสีเหลืองทอง
แต่ม้วนที่ซื้อมาล่าสุด ซื้อจากพี่โจ ร้านโมเดิร์นอาร์ต เชียงใหม่ เป็นสายสีดำ ม้วนละ
180 บาท ความยาว 20 เมตร ระบุเป็น 0.06 เท่ากันแต่ด้วยความรู้สึก เหมือนมันจะแข็งๆ
กว่า ขาดยากกว่า อย่างเวลาพันบ่วงกับ 6 เหลี่ยมเสร็จแล้วจะตัดปลายทิ้ง สายโคโรนาสีเหลืองทอง
เอาเล็บจิกงอไปมายิกๆ สองสามรอบก็ขาด แต่สายเส้นสีดำไม่ยักขาดแฮะ
ต้องใช้กรรไกรตัดเล็บเล็มตัดปลายที่ยื่นมาออก ...
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ สูตรใครก็สูตรมัน แต่สูตรของฉัน ใช้หกเหลี่ยมตัวเล็กๆ
(ที่มันโตกว่าเดือยคล้องสายโคโรนา ไม่รู้เหมือนกันว่าเบอร์อะไร) กับคีมคีบชิ้นงานอิเลคทรอนิกส์
นายช่างคนสนิทเรียก “คีมหมอ” เป็นคีมแหลมๆ หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ทั่วไป
มีอยู่ 2 แบบ คือปลายตรง กับปลายงอคล้ายปากนกปากกา ... และสำหรับสายโคโรนาเส้นสีดำ
ขอเพิ่มอุปกรณ์กรรไกรตัดเล็บอีกอย่างนึงก็แล้วกัน เพราะมันขาดยาก ... แต่อย่าคิดว่ามันไม่ขาดนะ
ขึงตึงเกินไปยังไงมันก็ขาด
เริ่มกันเลย ดึงสายโคโรนาออกมาจากม้วน ไม่ต้องเอาออกมามาก จับปลายมันไว้ให้ดี
เดี๋ยวมันหลุดจากม้วน เด้งไปมาพันกันจะเพิ่มงานเสียเปล่าๆ ... ถือปลายยื่นออกมาประมาณ
2 – 3 ซม. งอปลายสายเล็กน้อยประมาณ 1 ซม. แล้วจัดการพาดพันกับหกเหลี่ยม
ใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งมือข้างที่เหลือ จิกให้มันติดกันแล้วก็หมุนๆ
เพราะเราจะทำบ่วงเล็กๆ เพื่อคล้องกับเดือยที่บล็อก ... เกลียวที่หมุนยาวประมาณ 1 –
2 มม. ก็เพียงพอ เสร็จแล้วก็ตัดปลายสายที่ยื่นออกมา ตำราว่าปลายไม่ควรยื่นออกมาจากเกลียวเกิน
1 มม. เพราะอาจทำให้บล็อกลีคได้
รูดถอดหกเหลี่ยมออก พอได้บ่วงเล็กๆ ที่สมบูรณ์แบบแล้วก็จัดการคล้องกับเดือยเล็กๆ
ค่อยๆ ดึงพาดมาตามร่องตามรอยของมัน คราวนี้ใช้สปริงคล้องสายโคโรนา
เกี่ยวกับสายโคโรนาไว้ ลากสายไปใกล้ๆ กับตัวคล้องเหล็กที่ติดกับบล็อก จุดนี้ต้องอาศัยประสบการณ์นิดนึง
เพราะสายจะตึงจะหย่อน ก็อยู่ที่การกะคำนวณความยาวของสาย
คือสุดสายปลายทางที่เราจะงอสายโคโรนาแล้วหมุนพันกับปลายข้างหนึ่งของสปริง ต้องเป็นระยะทางที่สปริงยืดออกแล้วคล้องเดือยเหล็กได้พอดี
กะความยาวที่จะม้วนสายโคโรนาพันกับสปริง เอาพอสปริงยืดไปคล้องได้
เพราะยานไปก็ใช้ไม่ได้ และถ้าตึงไป สายโคโรนาก็จะขาด ดังคำพระท่านว่า มัชฌิมาปฏิปทา
ให้เดินทางสายกลางเข้าไว้ ... ว่าแล้วก็หมุนเกลียวให้แน่นติดสปริงสัก 1 – 2 มม.
เสร็จแล้วก็ตัดสาย อย่าให้เหลือเดือย ... ต่อจากนั้นก็ใช้คีมหมอ
คีบปลายอีกข้างของสปริง ยืดไปคล้องเดือยเหล็กให้ได้ เป็นอันเสร็จพิธี ...
ท่องไว้ว่ามัชฌิมาปฏิปทา หย่อนไปใช้ไม่ได้ ตึงไปก็ขาด
เอาพอดีดได้เสียงไพเราะดังเสียงพิณก็เพียงพอแล้ว ...
ระวัง ... ถ้าตึงไป สายขาด ตามหาสปริงให้เจอ
เพราะราคาค่อนข้างแพงอยู่ ยุคแรกๆ ที่เชียงใหม่มีร้านขายอะไหล่ไม่กี่ร้าน เคยหยิบเหรียญในเก๊ะรถไปซื้อ
คิดว่าตัวละบาทสองบาท ปรากฏว่า ขายกันตัวละ 45 บาท
ได้เดินกลับไปเอาแบ็งค์ในกระเป๋าตังค์มาจ่ายแทน คนขายยังแซวว่า
ถ้าแพงไปก็เอาสปริงขดลวดปากกาไปใช้แทนก็ได้ ... ไม่รู้ว่าสปริงแบบพิเศษนี้มันทำมาจากอะไร
เป็นชิ้นส่วนหนึ่งของยานอวกาศหรือไม่ แล้วถ้าเอาสปริงไส้ปากกามาโมดิฟายใช้แทน
มันจะมีผลกับภาพมากน้อยเพียงใด ... ใครทดสอบแล้ว รบกวนบอกกล่าวด้วย
แถมวิชามารให้นิดนึง แต่ไม่แนะนำว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง
ผู้เปลี่ยนสายควรพิจารณาเอง ... กรณีที่สายหย่อนไม่มาก คือสปริงยืดแล้ว แต่สายดีดแล้วเสียงไม่เพราะ
คือน่าจะตึงได้มากกว่านี้ ... ให้ค่อยๆ หมุนร้อยสายที่เกี่ยวกับหัวสปริง จากหัวงอๆ
ของสปริง เลื่อนสายเข้าไปในเกลียวสปริงสัก 1 – 2 เกลียว แต่ระวังอย่าเลื่อนตำแหน่งสายโคโรนาให้ไปแตะปลายงอๆ
ของสปริง คือประหนึ่งว่า เราหดสปริงให้สั้นลง โดยเลื่อนรูสายโคโรนาเข้าไปข้างในเกลียว
สปริงสั้นลง สายก็จะตึงมากขึ้น ... แต่ทางที่ดี ลองพันสายโคโรนาใหม่ดีกว่า ซ้อมมือบ่อยๆ
จะได้เก่ง ... ว่าแล้วหมดไปหลายฟุตเหมือนกันนะงานนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น