เปลี่ยนเบลดเบลท์ iRC2880i สไตล์ยาจก ขี้งกไม่ซื้อยกยวง

ปรินท์วนไปได้เรื่อยๆ สำหรับเครื่องสีคุณภาพอย่าง Canon iRC2880i ปรับซ่อม เปลี่ยนอะไหล่ เวียนกันไปเป็นรอบๆ โดยเฉพาะสำหรับลูกค้าที่ชื่นชอบงานปรินท์สีราคาถูก ขึ้นชื่อว่า Canon ตอบโจทย์งานสีราคาย่อมเยาได้ดีทีเดียว เริ่มตั้งแต่ต้นทุนเครื่องที่ถูกลง หมึก อะไหล่ ขายกันเกลื่อน พ่อค้าแทบเดินชนกันตาย แถมหาได้ทั้งของแท้ ของเทียม ของแท้เทียมๆ ของเทียมแท้ๆ ฯลฯ เลือกกันไม่ถูกทีเดียว พ่อค้าปากหวานก้นเปรี้ยวเขี้ยวลากดิน ถึงขั้นอัปปางกลางทะเลลึก สะอึกสำลักหมึกตาย ก่อนตลาดจะวายเสียอีก

ล่าสุดปรินท์สีงานจำนวน ราคาชวนฝัน ตั้งค่าไว้อย่างงดงาม ปรินท์ไปเรื่อยๆ ในส่วนรูปภาพเริ่มมีลายๆ โผล่มาเป็นระยะ ส่วนที่ไม่มีภาพพื้นขาว กลับมีสีพื้นสวนทางมาเป็นระยะเช่นกัน ใบสองใบแรกไม่เท่าไร ใบต่อไปชัดขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเปิดชุดทรานสเฟอร์เบลท์มาดูพบเป็นคราบหมึกเกาะอยู่ตามเบลท์ แก้ปัญหาจากง่ายไปยาก เช็ดล้างทำความสะอาดเบลท์ก็แล้ว ส่องดูคราบหมึกติดดรัมเช็คดรัมเบลดก็แล้ว ปรากฏว่าไม่มีหลักฐานใดจะมัดตัวจำเลยได้เท่าเบลดเบลท์ ที่ทำหน้าที่หย่อนยานปาดหมึกบนเบลท์ออกไม่หมด พอตกค้างก็บดบังการสร้างภาพใหม่ แถมที่มีอยู่ก็พร้อมจะหลุดไปเปื้อนบนกระดาษได้ทุกเมื่อ



เมื่อได้จำเลยแล้ว โจทย์ก็จัดการยื่นเรื่องต่ออัยการ เพื่อสืบเสาะราคาอะไหล่ เบลดเบลท์ที่ว่านี้ คร่าวๆ ร้านแรกที่เชียงใหม่ ป้ายแดงครบชุด ใส่กล่องมาขาย 2200 บาทถ้วน หรือจะเอาเบลท์ทั้งชุด แถมเบลดเบลท์ที่ติดมาด้วย ทั้งชุดเบลท์และเบลดเบลท์ แต่เป็นสินค้ามือสองใช้แล้ว เค้าคิดให้ 1200 บาท ยังลังเลอยู่ ไปถามอีกร้าน ราคาก็ประมาณกัน จนมาเจออีกร้านหนึ่ง เบลดเบลท์ ห้วนๆ แท่งเดียว ก้านเดียวเพรียวๆ เฉพาะแถบเบลดติดแผ่นแกนเหล็ก วัดใจให้ไปแกะเปลี่ยนเอง ด้วยราคาเย้ายวนใจ 350 บาท พลาดได้ไงครับ ภาวะเศรษฐกิจเยี่ยงนี้

ซื้อมาเสร็จกลับถึงร้าน ถอดเบลท์มาลองเลย วิธีถอดเบลท์ได้ชี้แจงไปแล้ว กรณีเบลท์ล็อค ขอความกรุณาย้อนไปคลิกดูที่ http://photocopyslinsmile.blogspot.com/2015/09/irc-2880i.html ยกเบลท์ออกมาทั้งยวง แล้วจัดการวางหงายท้องลง เบลดเบลท์ หรือตัวทำความสะอาดทรานสเฟอร์เบลท์ จะอยู่ในกระปุกข้างล่าง จัดการแกะน็อต 4 ตัว เอากระปุกเบลดเบลท์ออกมา จะมองเห็นชุดเบลด ที่ทำหน้าที่ปาดหมึกออกจากทรานสเฟอร์เบลท์ และสปริงเกลี่ยกากหมึกที่เบลดปาดออกมา อยู่ข้างใน จัดการถอดฝากล่องเก็บกากหมึกออกโดยใช้เล็บแกะสลักข้างหลัง 4 จุด แล้วเอากากหมึกที่ค้างอยู่ไปเท หรือใช้โบรวเวอร์เป่าทิ้ง เพื่อความสบายใจในการแยกส่วนชุดเบลดเบลท์

ด้านที่แกะฝาออก จะมีน็อต 3 ตัวที่ยึดชุดเบลดอยู่ แกะรอไว้เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจก่อนก็ได้ ยังไงก็ยังแยกชุดเบลดไม่ออก เพราะมีสปริงขวางอยู่ ต้องถอดสปริงออกโดยด้านหนึ่งจะมีเฟืองที่หมุนสปริงอยู่ ถอดน็อตฝาที่มีเฟืองสีขาวออก เฟืองตัวในจะติดกับสปริง สปริงด้านนี้แกะไม่ได้ ทิ้งไว้ก่อน ไปแกะอีกด้านบ้าง แกะน็อตถอดฝาโยกปิดกากหมึกออก ด้านนี้ของสปริงจะมีแหวนพลาสติกมีรูติดกับสปริง ดันให้สปริงยื่นออกมาแล้วแกะแหวนพลาสติกออก สปริงด้านนี้จะเป็นอิสระ ทีนี้เอื้อมมือกลับไปสปริงด้านที่มีเฟือง จัดการหมุนๆๆๆ เฟืองให้สปริงไหลออกมา

หมุนสปริงไหลออกมาเรื่อยๆ จนเกือบหลุด ชุดเบลดก็จะสามารถขยับให้พ้นกล่องออกมาได้ มาถึงจุดนี้แล้วก็ไม่ยาก ปลดน็อตที่พันธนาการเบลดอยู่กับแกนเหล็ก ปลดสปริงซ้าย-ขวาก่อนก็ได้ ง่ายดี ตัวหลักๆ ก็คือน็อตตัวกลาง มีพลาสติกสีขาวหนุนระยะและปุ่มวางตำแหน่งที่ถูกต้องอยู่ ถอดจนตัวพระเอกของเราคือเบลดเบลท์เป็นอิสระ จะมีน็อตยึดกราวด์ 2 ด้านซ้ายขวา ถอดย้ายไปใส่เบลดใหม่ได้เลย และอย่าลืมแผ่นพลาสติกบางๆ ที่คอยประคองหมึกไหลไปตามสปริง พลาสติกนี้มีกาวติดอยู่ ค่อยๆ ดึงจากเบลดเก่าไปแปะเบลดตัวใหม่ในตำแหน่งเดิม จะเพิ่มเติมความมั่นใจยิ่งขึ้น

เสร็จเรื่องเสร็จราว ก็เข้าสู่โหมดประกอบกลับคืน หลายคนว่าขั้นตอนนี้พูดง่ายแต่ทำยาก ผมเองก็ขอสารภาพว่าตอนถอดไปแต่ละขั้นตอนก็ถ่ายภาพไปเรื่อยๆ กะมาเขียนลงบล็อก ตอนประกอบกลับจะเอา ย้อนกลับไปบางทีก็จนมุม ในที่สุดก็ยอมเปิดภาพที่ถ่ายเก็บไว้ เพื่อประกอบให้เข้าที่เหมือนเดิม เป็นธรรมดาสำหรับสิ่งที่ไม่ได้ถอดเข้าออกทุกวัน เอาเป็นว่าพอประกอบทุกอย่างกลับคืนเสร็จแล้ว ไหนๆ ก็ถอดเบลดแล้วก็ล้างเบลท์ทำความสะอาดให้เหมือนออกโรงงานมาใหม่ แล้วก็ทาแป้งให้ไฉไลลื่นไหลก่อนประกอบเบลดเข้าไป เป็นอันเสร็จพิธีการเปลี่ยนเบลดเบลท์ใหม่ สไตล์คนขี้งกครับ

1 ความคิดเห็น: