ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความอัจฉริยะในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวก
และหนึ่งในวิทยาการที่ญี่ปุ่นมีความเป็นสุดยอดให้โลกประจักษ์ในอันดับต้นๆ
นั่นก็คือเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ หรือเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ตู้กดญี่ปุ่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ขายของนี้
เริ่มมีใช้ในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1888 หรือ 130 ปีที่แล้ว เรื่อยมาจนถึงวันนี้
ไม่แปลกที่จะพบเห็นเจ้าเครื่องนี้ตั้งเรียงรายกระจายอยู่ทั่วประเทศ แถมตู้กดนี้ได้พัฒนาตนเองขึ้นเรื่อยๆ
สามารถจำหน่ายสินค้ารวมทั้งบริการ ทั้งของอุปโภคและบริโภค หรือแม้แต่ของที่คาดไม่ถึง
ตั้งแต่ย่างก้าวก้าวแรกที่สัมผัสแผ่นดินญี่ปุ่น ยังไม่ทันออกสนามบินนาริตะ
ก็เริ่มใช้บริการตู้กดกันแล้ว น้ำเต้าหู้ร้อนๆ ช่วยคลายหนาว สวนทางกับน้ำบ๊วยเย็นๆ
คืนความสดชื่น ทั้งร้อนและเย็นออกมาจากตู้เดียวกัน หิวใช่ไหมข้าวปั้นเมนูร้อน ป๊อปคอร์น
สายไหม ไอศกรีม น้ำแข็งไส ซิมเน็ต ร่มกันฝน ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่สามารถกดได้จากตู้กดอัตโนมัติ
และถ้าก้าวไปในร้านสะดวกซื้อ อย่าง 7-11 หรือ Family Mart หรือห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่ทั่วไปในญี่ปุ่นแล้วละก็ เราก็จะพบกับตู้กดถ่ายเอกสาร
ปรินท์งานอัตโนมัติ คอยให้บริการอยู่แทบทุกสาขา
เครื่องถ่ายเอกสารหยอดเหรียญอาจไม่ใช่เรื่องใหม่
ในเมืองไทยก็เคยเห็นมีคนคิดประดิษฐ์มาใช้กันบ้างแล้ว แต่ในญี่ปุ่น ขอเรียกว่าตู้กดถ่ายเอกสารปรินท์งานอัตโนมัติจะเหมาะสมกว่า
เพราะไม่ใช่แค่หยอดเหรียญแล้วถ่ายฯ ได้เท่านั้น ตู้กดถ่ายเอกสารอัตโนมัตินี้ มีส่วนพิเศษสำคัญสามส่วนหลักๆ
ส่วนแรกคือ ส่วนของเครื่องถ่ายเอกสาร เป็นเครื่องมัลติฟังก์ชั่นขนาดเล็ก ความเร็ว
30 กว่าแผ่น ถ่ายเอกสารทั้งขาวดำและสี ลูกค้าเปิดฝาวางต้นฉบับถ่ายบนหน้ากระจก สั่งงานบนแผงหน้าจอเหมือนเครื่องถ่ายฯ
ทั่วไป โดยทุกเครื่องที่เจอเป็นเครื่องถ่ายฯ ยี่ห้อ Fuji Xerox
ส่วนสำคัญต่อมาคือ ตู้คอมพิวเตอร์จอทัชสกรีน อุปกรณ์ต่อพ่วงซึ่งทำหน้าที่เหมือนพนักงานประจำศูนย์ถ่ายฯ
ทำหน้าที่เป็นทั้งพนักงานต้อนรับลูกค้า คอยให้คำแนะนำ แจ้งราคา และอธิบายขั้นตอนวิธีการใช้เครื่องฯ
ทั้งหมด พร้อมกับทำหน้าที่เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ คอยเปิดไฟล์งาน รับไฟล์งานจากตัวอ่านอุปกรณ์ต่างๆ
แฟลชไดรฟ์ แผ่น CD, DVD, Memory โทรศัพท์มือถือ iPad กล้องดิจิตอล รวมทั้งสามารถเข้าสู่ระบบบนหน้าจอทัชสกรีน เพื่อโหลดไฟล์งานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
จาก E-mail หรือโปรแกรมรับส่งไฟล์หลักๆ ที่นิยมใช้กัน
ส่วนสำคัญส่วนสุดท้ายคือ พนักงานเก็บเงิน หรือแคชเชียร์ จะทำหน้าที่รับเงินก่อนให้บริการ
โดยสามารถรับได้ทั้งแบงค์และเหรียญ รับเงินทอนเงินได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ตู้กดถ่ายเอกสารตามห้างสะดวกซื้อทั่วไปในญี่ปุ่น
มักรวมส่วนของพนักงานต้อนรับ พนักงานคอมพิวเตอร์ และแคชเชียร์ อยู่รวมกันในตู้เดียวกันเพื่อประหยัดเนื้อที่
แต่หากเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Aeon ในส่วนของ Supermarket
หรือแผนกเครื่องเขียน ก็จะมีทั้งเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องปรินท์รูปแยกกันออกมา
ตามอุปกรณ์เสริมต่างๆ ให้ลูกค้าเลือกได้ตามต้องการ
อย่างเครื่องที่ห้างสรรพสินค้า Aeon เมืองอิวากิ จังหวัดฟูกุชิมา
เครื่องนี้ตั้งอยู่ชั้นล่างสุดของห้าง อยู่หน้าโซนซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นเครื่องถ่ายเอกสาร
Fuji Xerox รุ่น DocuStation C3375 KT หน้าตาก็เหมือนกับเครื่อง
Fuji Xerox ทั่วไปบ้านเรา แต่ว่ามีอุปกรณ์พ่วงอีก 2 ชุด ดูคือชุดคอมพิวเตอร์
มีหน้าจอทัชสกรีน เพิ่มขึ้นมาคล้าย Fuji Xerox รุ่นใหญ่ สามารถป้อนคำสั่งเพื่อเปิดไฟล์หรือสั่งปรินท์งานซับซ้อนมากขึ้นตามที่ลูกค้าต้องการ
โดยมีอีกชุดแยกมาคือเครื่องหยอดเหรียญ Coinkit 9 ทั้งสามส่วนผลิตจากบริษัทเดียวกันทั้งหมด
คือ Fuji Xerox นั่นเอง
สนนราคา ตู้กดถ่ายเอกสารอัตโนมัติ ถ่ายขาวดำ A4 ใบละ 10 เยน หรือประมาณ 3 บาท ถ่ายเอกสารสี 50 เยน หรือ 15
บาท ส่วนถ้าเป็นขนาด A3 สี 80 เยนหรือ 24 บาท ส่วนงานปรินท์จะแพงกว่า ขาวดำ A4
ใบละ 20 เยน หรือ 6 บาท ปรินท์สี A4 ใบละ 60
เยน 18 บาท ถ้าเป็น A3 สีก็ใบละ 100 เยน หรือประมาณ 30 บาท ซึ่งหากจะเทียบกับค่าครองชีพของญี่ปุ่น
โดยไม่มองตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ 100 เยนประมาณ 29-30 บาทแล้ว ราคาตู้กดถ่ายเอกสารนี้
จะว่าไปก็ไม่ถูกไม่แพง อาหารจานเดียวร้านทั่วไปก็ 300 - 500 เย็น เทียบกับร้านตามสั่งบ้านเราจานละ
30 – 50 บาท ถ่ายฯ ขาวดำใบละ 10 เยนก็ประมาณบาทเดียวบ้านเรา
แอบมาศึกษาดูงานตู้กดถ่ายเอกสารอัตโนมัติที่ญี่ปุ่นแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่าอีกนานไหมที่ร้านสะดวกซื้อบ้านเราจะนำมาให้บริการบ้าง
ถ้ามาติดตั้งแล้วจะเป็นอย่างไร จะมีผลกระทบอย่างไรต่อศูนย์ถ่ายเอกสารที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในบ้านเมืองไทยบ้างไหม
พฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มลูกค้าที่จะไปใช้บริการตู้ถ่ายฯ ตามร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด
24 ชั่วโมง จะเป็นกลุ่มเดียวกันกับลูกค้าที่เลือกใช้บริการตามศูนย์ถ่ายฯ
ทั่วไปหรือไม่ ขอได้โปรดติดตามกันต่อไป ระหว่างรอนี้ อย่าลืมเรียกใช้บริการร้านสลิลสไมล์กันต่อไปนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น