ธุรกิจถ่ายเอกสาร กับการละเมิดลิขสิทธิ์การถ่ายเอกสารตำรา


ยิ่งศาสตร์และศิลป์ เทคนิคและเทคโนโลยี ส่งผลให้ธุรกิจถ่ายเอกสาร สามารถทำสำเนาเอกสารออกมาได้ยอดเยี่ยมเทียมต้นฉบับเพียงใด บรรดานักรักษากฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วโลก ยิ่งร้อนรน ออกมาเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าของลิขสิทธิ์เยี่ยงนั้น ... ช่วงปีที่ผ่านมา คิดอย่างไรกันบ้าง หลังจากที่มีข่าวมาตลอด ว่าตำรับตำราทั้งหลาย ที่ถ่ายเอกสารกันอยู่ทุกวัน ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เขียนตำรา สำนักพิมพ์ รวมทั้งสถาบันที่เป็นเจ้าของผลงานทางวิชาการต่างๆ


เริ่มจากนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดลลี ประเทศอินเดีย นักเรียนได้ออกมาเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงตำราเรียน โดยเฉพาะจาก Oxford University Press, Cambridge University Press, and Taylor and Francisซึ่งร้านถ่ายเอกสาร ทั้งหลายต้องหยุดให้บริการถ่ายเอกสารตำราเหล่านั้นโดยปริยาย ตามคำสั่งของศาลสูง และการกดดันจากมหาวิทยาลัย เนื่องจากการทำสำเนาเอกสารดังกล่าวถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ข่าวนี้มาจาก http://www.downtoearth.org.in/content/publishing-biggies-target-delhi-university-photocopy-shop เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา



นักศึกษาทั้งหลาย ต่างเพรียกหาถึงสิทธิของตนในการเข้าถึงข้อมูลด้านการแสวงหาความรู้ ด้วยงบประมาณอันน้อยนิดของบรรดานักศึกษา จะเข้าถึงวิชาความรู้จากตำราที่มีราคาแพงได้อย่างไร หากไม่มีเครื่องถ่ายเอกสาร ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ตั้งข้อหาไว้อย่างรุนแรง กับการถ่ายสำเนาจากหนังสือที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักพิมพ์ ตำราในประเทศ ไม่เพียงพอต่อการต่อยอดความรู้ ส่งผลให้ความตึงเครียดของนักศึกษาได้กระจายไปทั้งบทท้องถนนและสื่อออนไลน์

ที่คอสตาริกาก็เหมือนกัน นักศึกษาได้เดินขบวนประท้วงในซานโฮเซ ข่าวออกเมื่อวันอังคารที่ 9 ตุลาคม, 2012, http://globalvoicesonline.org/2012/10/11/costa-rica-students-protest-veto-of-photocopying-law/ ประท้วงกฎหมายมาตราหนึ่ง ที่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี เห็นว่ามีการปะทะกันพอสมควรระหว่างนักศึกษาที่ต้องการสิทธิในการถ่ายเอกสารตำรา กับเจ้าหน้าที่ ที่ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย โดยผู้ประท้วงอ้างว่าได้รับแรงกดดันจากสำนักพิมพ์ที่ขายหนังสือราคาแพง และคิดว่าเค้าควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาและความรู้ ถูกต้องตามกฎหมาย โดยใช้การถ่ายสำเนาเอกสารเพื่อการศึกษา

ผมเองก็ไม่มีเวลาตามข่าว ไม่รู้ว่าออกหัวออกก้อยกันอย่างไร จะว่าไปมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอสมควร เพราะกว่าเค้าจะผลิตตำราออกมาสักเล่ม ต้องมีต้นทุนในการร่ำเรียน สั่งสมประสบการณ์ วิเคราะห์วิจัยอยู่หลายขั้นตอน สำนักพิมพ์และมหาวิทยาลัยก็ใช้ทุนสูงในการจะได้มาและจัดพิมพ์ ก็หนักหนาสาหัสพอควร แล้วอยู่ดีๆ มีคนเอามาถ่ายขายใบละไม่กี่สตางค์ ก็น่าเห็นใจอยู่ ..

แต่โดยส่วนตัว เห็นนักศึกษาลำบากขอทุนเรียน มาปรินท์งาน+ถ่ายเอกสารที่ร้าน ต่อราคาแล้วต่อราคาอีก ก็นึกสงสารพ่อแม่ผู้ปกครอง ยิ่งเห็นเด็กอยากเรียนรู้อยากมีวิชา เห็นตำรามีค่ามากกว่าค่าข้าวในแต่ละวัน ยอมเจียดค่าขนมมาปรินท์งานมาถ่ายเอกสาร ... เราก็พอเข้าใจ เพราะก็เคยผ่านจุดนั้นมา ใครไม่เคยลำบากไม่เข้าใจ ... หวังเพียงอย่างเดียวว่าผู้ใหญ่ใจดีในแวดวงการศึกษา จะยอมเสียสละบ้าง อะไรบ้าง ... ชี้ทางสว่างให้นักศึกษาไทย รวมทั้งร้านถ่ายเอกสารทั่วไป ได้หายใจคล่องคอ ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น